สภานโยบายฯ ชงมาตรการลดหย่อนภาษีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% ระยะที่ 3 พร้อมหนุนผลักดันสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาประเทศ

(11 เมษายน 2565) สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดการประชุม ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวง หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ ว่า ที่ประชุมสภานโยบายฯ ได้พิจารณาเห็นชอบมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา มีอำนาจดำเนินการแทนสภานโยบายในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย โดยที่ประชุมเน้นย้ำว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์นั้น เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ดี ขณะเดียวกันยังได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากฝั่งภาคเอกชน เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นโอกาสในการช่วยพัฒนาทักษะและเสริมสร้างศักยภาพให้กับนักศึกษาได้ในทุกด้าน และจะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในอนาคต

สภานโยบายฯ ยังได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยเห็นว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว และยังเป็นรากฐานสำคัญของ Soft Power ด้วย การพัฒนาบุคลากรในด้านนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ภาคการศึกษาควรต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน จึงได้มีการเสนอแนวทางในการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ และมอบหมายให้กระทรวง อว. จัดทำแผนงานและมาตรการขับเคลื่อนและจัดตั้งสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่าง เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งต่อยอดต้นทุนทรัพยากรสร้างสรรค์ที่หลากหลายและขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดมหาวิทยาลัยเฉพาะด้านและมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ เนื่องจากประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่ดีมาแต่เดิมที่สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งการผลักดันในเรื่องนี้ต้องมีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังมีความท้าทายที่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานที่ผลิตออกมา เพื่อทำให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการขยายระยะเวลาและปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 300% (มาตรการลดหย่อนภาษี 300%) ซึ่งจากการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545-2564 ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับที่ดี สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีความสนใจการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น ที่ประชุมสภานโยบายฯ จึงมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้จัดเป็นการดำเนินการในระยะที่ 3 เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2566-2570 และให้ดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในการปรับเพิ่มเพดานงบประมาณโครงการ ในกรณีที่เคยมีโครงการผ่านการพิจารณามาแล้ว รวมถึงให้เพิ่มเติมหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมาย ตลอดจนให้เพิ่มภาคเอกชนที่มีการสนับสนุนงบประมาณหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หรือกองทุนเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษา ให้อยู่ในเงื่อนไขมาตรการลดหย่อนภาษีนี้ได้ด้วย โดยมอบหมายให้ สอวช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาเพื่อปรับรูปแบบของมาตรการเพื่อการขยายผลในวงกว้างต่อไป